‘จ้าน’ เด็กชายอายุ 8 ขวบ แม่พาจ้านมาปรึกษาด้วยเรื่องชอบหงุดหงิด โวยวาย เวลาที่อยู่กับแม่
แต่เวลาอยู่กับคนอื่นมักไม่เป็น
ผู้ใหญ่ไม่ว่าจะเป็นญาติ หรือครูที่โรงเรียน บอกว่าจ้านเป็นเด็กที่น่ารัก มีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือ พูดรู้เรื่อง เป็นผู้ใหญ่กว่าเพื่อนๆ
“แม่สงสัยว่า ลูกของแม่เป็นคนสองบุคลิกมั้ยคะหมอ” คุณแม่ถาม เพราะแม่รู้สึกว่าเวลาอยู่แม่จ้านไม่เป็นแบบที่ครูบอก จ้านจะเอาแต่ใจ โวยวาย โมโหง่าย ชอบอ้อนให้แม่มาดูแล
.
ที่ผ่านมา มีเด็กหลายคนที่พ่อแม่พามาปรึกษาด้วยเรื่องที่คล้ายๆ กับคุณแม่ของจ้านเล่าให้ฟัง
เป็นปกติที่เวลาเด็กอยู่กับคนที่เขาคุ้นเคย รู้สึกอบอุ่นใจ สนิทด้วย เขาก็จะแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเองที่มากขึ้น
เวลาไม่ชอบก็แสดงออกได้ ไม่ต้องอดทนอะไรมาก จริงๆ แล้วนั่นแสดงถึงความใกล้ชิดของเด็กและผู้ปกครอง แต่ต้องมองหาสาเหตุของการแสดงออกนั้นๆ ด้วย
สำคัญกว่าอะไรคือ การถามเด็กว่า “มีอะไรที่หนูไม่สบายใจหรือเปล่า วันนี้แม่เห็นหนูหงุดหงิด แม่อยากจะฟังหนูเล่า หนูเล่าให้แม่ฟังได้”
ประโยคประมาณนี้อาจจะทำให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น
.
ในกรณีของจ้าน จ้านเล่าให้หมอฟังว่า ที่เขาหงุดหงิดช่วงนี้เพราะงานเยอะมาก ต้องเรียนออนไลน์และไม่ค่อยมีสมาธิ พยายามจะฟังครูสอน แต่ก็รู้สึกเบื่อ ครูให้งานเยอะด้วย รู้ดีว่าต้องทำ
จ้านเล่าให้แม่ฟังเหมือนกัน แต่แม่ไม่ค่อยสนใจ แม่ต้อง work from home ด้วย เวลาจะเล่าอะไรแม่ก็บอกว่า แม่ยุ่งนะ รอเดี๋ยว
“แม่บอกแต่ว่า ผมเป็นเด็กดี ครูชม ทำไมอยู่บ้านนิสัยไม่ดีเลย” จ้านเล่าต่อ “ผมยิ่งโมโหพอแม่พูดแบบนี้”
จ้านบอกว่า เขาสนิทกับแม่ที่สุดในบ้าน เวลาอยู่แม่ เขามักจะสบายใจที่จะเล่าเรื่องต่างๆ แต่ช่วงนี้ แม่ก็คงยุ่งเรื่องงาน
“ก็แค่อยากให้แม่ฟังผมบ้างครับ” จ้านพูดในท้ายสุด
หลังจากที่แม่เข้าใจเรื่องราว ฟังลูกชายมากขึ้น สถานการณ์ในบ้านก็เริ่มที่จะดีขึ้นมา
.
เวลาที่เด็กแสดงออกทางอารมณ์กับพ่อแม่ ถ้าเป็นลักษณะโวยวายทางคำพูด หงุดหงิดหัวเสีย
ถ้ายังไม่ได้รุนแรงทำอันตรายต่อตัวเองหรือคนอื่น ก่อนที่จะตัดเตือน ควรหาวิธีทำความเข้าใจสาเหตุการแสดงออก อย่าเพิ่งไปดุว่ารุนแรงก่อนจะถามสาเหตุ
และค่อยๆ ชวนเขาหาวิธีจัดการอารมณ์ด้านลบ เช่น เล่าให้ฟังดีๆ ไม่ต้องโวยวาย ไปออกกำลังกาย ทำงานอดิเรกที่ชอบ ผ่อนคลายความรู้สึกไม่ดีบางอย่าง ซึ่งเป็นธรรมดาที่มันเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน
พ่อแม่ คือคนที่เขารู้สึกสนิทใจที่จะแสดงออกอย่างที่เขาเป็น ถือเป็นที่ระบายหนึ่งที่เขาใช้ทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น ถ้าเป็นเด็กที่ไม่สามารถระบายอะไรกับพ่อแม่เลย ตรงนั้นน่าเป็นห่วงกว่า
แต่บางทีเด็กก็ทำไม่เหมาะสมบ้าง คล้ายเราที่เป็นผู้ใหญ่บางที ที่แสดงออกระบายความรู้สึกแย่ๆ กับคนใกล้ตัว ดังนั้นผู้ใหญ่จะต้องเรียนรู้ไปกับเด็ก ต้องทำเป็นตัวอย่าง ค่อย ๆสอนให้เขามีวิธีระบายอย่างเหมาะสมมากขึ้น ซึ่งเขาเรียนรู้ตามอายุที่ผ่านไป ตามปกติวุฒิภาวะต่างๆ ก็จะมากขึ้นเอง
หมายเหตุ: เรื่องของจ้านเป็นเรื่องที่หมอดัดแปลงมาจากกรณีจริงที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับบุคคลที่สาม