เลี้ยงลูกให้รับผิดชอบตัวเอง
พ่อแม่อยากให้ลูกๆ โตไปเป็นเด็กรับผิดชอบตัวเองได้

แต่ความรับผิดชอบของเด็กๆ เกิดได้ด้วยการที่พ่อแม่ต้องช่วยกันสร้าง
อยากให้ลูกโตไปรับผิดชอบตัวเองได้ หมอมีคำแนะนำดังนี้นะคะ
❤️ ต้องเชื่อก่อน…ว่าลูกทำได้
mindset ของพ่อแม่เป็นเรื่องสำคัญ พ่อแม่ที่คิดว่าลูกยังเด็ก ทำอะไรไม่ได้หรอก จะคอยช่วยลูกอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทำให้ลูกทำอะไรได้ช้า “ตามความเชื่อของพ่อแม่” (ในหลักการเลี้ยงดูของคนญี่ปุ่น มีหลักว่า YDK หรือ Ya-re-ba-Da-Ki-ru หรือแปลง่ายๆ ว่า “การเชื่อมั่นว่าลูกทำมันได้” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่เด็กๆ จะลงมือทำอะไรด้วยตัวเองได้ดี)
❤️ หลายครั้งการไม่ช่วย คือการช่วยที่มีค่า
ฝึกให้ลูกกินข้าวเอง แต่งตัวเอง ใส่รองเท้าเอง ลากกระเป๋าเอง ฯลฯ “เด็กๆ จะเก่งขึ้นเสมอ”
ก่อนลงมือทำอะไรให้ลูก ถามตัวเองก่อนเสมอว่าลูกทำมันเองได้มั้ย… แล้ว “ช่วยเท่าที่จำเป็น”
❤️ อดใจและให้เวลา
การปล่อยให้ลูกทำอะไรเอง หลายครั้งมันช้าและเสียเวลามาก พ่อแม่ต้องใจเย็นและรอคอยที่จะไม่รีบเข้าไปช่วยเหลือ “เสียสละเวลา เพื่อการพัฒนาที่ดีกว่าของลูก”
❤️ อย่าใส่ใจกับสิ่งที่ไม่ใช่สาระ
พ่อแม่หลายคนรีบเข้าไปช่วยเหลือลูก เพราะกลัวเลอะ กลัวเปื้อน กลัวหก กลัวทำตก กลัวล้ม
รักลูกต้องท่องไว้ “ของเปื้อนแก้ได้ ลูกทำอะไรไม่ได้แก้ยาก”
❤️แค่ปล่อยล้ม…ลูกลุกได้
อย่าคอยระแวดระวังจนเกินไป ควรปล่อยลูกให้ได้เรียนรู้ พ่อแม่ที่กลัวอันตรายไปหมด มักจะแก้ปัญหาโดยการ “ห้าม อย่า ไม่” หรือทำให้ไปทุกอย่าง หลายครั้งการเติบโตของลูก ต้องแลกมากับการ “เอาชนะความกลัวของพ่อแม่”
❤️ อย่ากลัวลูกลำบาก
พ่อแม่หลายคนชอบทำอะไรให้ลูก เพราะกลัวลูกจะลำบาก กลัวลูกเหนื่อย “พ่อแม่ที่กลัวลูกลำบากในวันนี้ จะมีลูกที่ลำบากในวันข้างหน้า”
❤️ สร้างกำลังใจ…ไม่ใช้คำพูดเชิงลบ”
เวลาอยากให้ลูกลองทำอะไร ให้หลีกเลี่ยง “ไม่เก่งเลย” “ทำไม่ได้หรอก” “ดูสิคนนั้นยังทำได้” แต่ให้เปลี่ยนเป็นคำพูดสร้างกำลังใจ “หนูลองดูมั้ย แม่ว่าหนูน่าจะทำได้นะ ถ้าไม่ได้แม่จะคอยช่วย” “แม่ภูมิใจจังที่หนูรับผิดชอบตัวเองได้” ทำให้การทำอะไรได้ เป็นเรื่องท้าทาย น่าภูมิใจ และเป็นเรื่องสนุก
❤️ยินดีต้อนรับกับความผิดพลาด
เมื่อให้ลูกลงมือทำอะไร มันมีความผิดพลาดตามไปได้เสมอ ยิ้มรับกับความผิดพลาดนั้น ว่ามันช่างเป็นเรื่องธรรมดา สอนลูกเรียนรู้จากมัน ว่าสิ่งนั้นจะพัฒนาตัวเราได้อย่างไร
ลองดูนะคะ…
ช่วยลูกให้รับผิดชอบตัวเองได้ ด้วยการสร้างความเชื่อว่า “ฉันทำได้”
ลูกจะขอบคุณความอดใจไม่ช่วยและให้เวลากับเขา ในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน