แย่งของเล่น ตีกัน สอนเท่าไรก็ไม่ฟัง เกิดขึ้นได้ย่างไร และจะจัดการได้อย่างไร
ปัญหาแย่งของเล่นแล้วตีกันพบเสมอที่บ้าน ระหว่างพี่น้อง ระหว่างลูกเราลูกเขาที่มาเที่ยวบ้านเรา หรือลูกเขาลูกเราเมื่อเราไปบ้านเขา
พบที่โรงเรียนและเนิสเซอรี่เป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกวันนี้เราส่งลูกไปเนิสเซอรี่ตั้งแต่ 2 ขวบครึ่ง และส่งไปเรียนหนังสืออย่างจริงจังตั้งแต่เตรียมอนุบาลหรืออนุบาล 1
การตีกัน ทุบหัวกันและกัดกัน จึงเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า

1.ตอนที่เด็กเล็กอายุ 2-8 ขวบ เขายังอยู่ในพัฒนาการช่วงก่อน-ปฏิบัติการ คือ pre-operation stage ตามทฤษฏีพัฒนาการของฌอง เปียเจต์(Jean Piaget) หนึ่งในพัฒนาการที่สำคัญมากและเลี่ยงไม่ได้คือ เห็นตนเองเป็นศูนย์กลาง คือ self-centered หรือ egocentricism
2.เด็กเล็กเห็นตนเองเป็นศูนย์กลางหมายความว่าเด็กยึดถือตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลรอบตัว อะไรรอบตัวไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ใดๆหรือวัตถุใดๆล้วนเกิดจากตนเองดลบันดาลหรือมีความเกี่ยวพันกับตนเองทั้งสิ้น
3.ความคิดที่ว่าตนเองดลบันดาลอะไรก็ได้เป็นคุณสมบัติที่ติดตัวมาตั้งแต่เล็ก ครั้งที่เป็นทารก 12 เดือนแรกสามารถร้องแหกปากให้นมมาหาหรือใช้แม่วิ่งไปมาทำอะไรให้ตนเองได้สารพัด ไม่ว่าจะเป็นการป้อนนมเมื่อหิว อุ้มกอดเมื่อเหงา เปลี่ยนผ้าอ้อมเมื่อแฉะ ห่มผ้าเมื่อหนาว เปิดพัดลมเมื่อร้อน หรือเอามดแมลงออกไปจากร่างกายของตัว นี่คือความสามารถระดับ omnipotence ทำได้ทุกอย่างดังใจ
4.นอกจากเรื่องเห็นตนเองเป็นศูนย์กลางแล้ว เด็กยังมีพัฒนาการเรื่องวัตถุและตัวตนอีกประเด็นหนึ่งตามทฤษฎีพัฒนาการของมาร์กาเร็ต มาห์เลอร์(Margaret Mahler) กล่าวคือระหว่าง 0-3 ขวบที่เด็กจะพัฒนาสิ่งที่เรียกว่าแม่ รับรู้ว่าแม่และวัตถุรอบตัวนั้นมีอยู่จริง ก่อนที่จะพัฒนาตัวตนคือ self ในที่สุด ช่วงนี้อาจจะยาวนานและกว่าจะเห็นเพื่อนอยู่ในสายตากันจริงๆคือประมาณ 6-7 ขวบ
5.จากพัฒนาการข้อ 3 และ 4 เด็กเห็นตนเองเป็นจ้าวจักรวาล จะคว้าดาวก็ได้ดาวจะคว้าเดือนก็ได้เดือน แต่กลับไม่เห็นเพื่อนๆในสายตา เห็นแต่ของเล่นในมือพี่น้องหรือเพื่อนก่อน อยากได้ก็คว้าเลย ไม่รู้จักคำว่าขอเล่นหน่อยนะ พอๆกับที่ไม่รู้จักแบ่งปัน
6.พ่อแม่มีหน้าที่สอนให้เขารู้จักพูดคำว่า “ขอเล่นหน่อยนะ” หรือ “แบ่งให้เล่นนะ” แต่จะเห็นว่าเด็กเล็กต้องพูดถึง 4 พยางค์ หากส่งเด็กๆไปเรียนหนังสือเมื่อ 6-7 ขวบ ก็จะไม่มีปัญหาอะไร พัฒนาการข้อ 3 และ 4 นั้นสมบูรณ์แล้วอีกทั้งพูดได้กันหมดทุกคนแล้ว
วิกฤตการณ์ตีกัน ทุบหัวกัน หรือกัดกันก็จะลดลงโดยปริยาย แต่นี่ยังพูดไม่เป็นกันครบทุกคน บ้างพูดได้ บ้างพูดไม่ได้ มีมือมีไม้ก็ต้องฝึกใช้ตีกัน ทุบกัน คือ autonomy หรือถดถอยไปที่ระดับกัดกัน คือ regression เป็นธรรมดา
7.พ่อแม่มีหน้าที่สอน แต่ส่วนใหญ่จะพูดว่าสอนแล้วไม่ฟัง บ้างว่าสอน 300 ครั้งแล้วก็ไม่ฟัง หากเป็นเช่นนี้พ่อแม่ควรถอยมาดูคุณภาพการสอนของตัวเองว่ามีประสิทธิภาพมากเพียงไร
8.ทบทวนการสอนของตัวเองว่าสอนด้วยน้ำเสียงที่เอาจริงและสงบนิ่งมากน้อยเพียงใด หากสอนด้วยความหงุดหงิดระอาใจไปจนถึงโมโหโกรธาดุด่าว่าตี จะเป็นการสอนที่ไม่ได้ผล เพราะอารมณ์ของพ่อแม่นั้นเองที่รบกวนการรับรู้ของเด็กๆและไปวางเงื่อนไขให้เด็กกระทำพฤติกรรมนั้นซ้ำๆ การสอนที่ได้ผลต้องการน้ำเสียงและสีหน้าท่าทางที่เอาจริง และสงบนิ่ง
9.ทบทวนการสอนของตัวเองว่าพ่อแม่พูดตรงกันหรือยัง คือ coordination และพูดตรงกันอย่างสม่ำเสมอหรือยัง คือ consistency มิใช่พ่อพูดอย่างแม่พูดอย่าง อีกทั้งไม่คงเส้นคงวาวันหนึ่งสอนอย่างอีกวันสอนอีกอย่าง นอกจากนี้ได้จัดการปู่ย่าตายายลุงป้าน้าอามิให้เข้ามาแทรกแซงการสอนหรือยัง
10.เมื่อพบเด็กกำลังจะแย่งของเล่น พ่อแม่ควรอยู่ใกล้พอที่จะจับทันเวลาแล้วพูดว่า “ไม่ให้” แล้วสอนวิธีขอเล่นด้วยก่อนเกิดเหตุทุกครั้ง รวมทั้งเมื่อพบเด็กกำลังจะลงมือตีกัน พ่อแม่ควรอยู่ใกล้พอที่จะจับทันเวลาแล้วพูดว่า “ไม่ให้” แล้วสอนเรื่องการแบ่งปันก่อนเกิดเหตุทุกครั้ง ปิดท้ายด้วยคำชมเชยเมื่อเด็กทำตามคำสั่งสอนที่ให้
จะเห็นว่าการจะทำทั้งหมดนี้ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 10 ต้องการเวลาของพ่อแม่ที่มีเวลาอยู่บ้านมากพอที่จะอยู่ใกล้ เห็นเหตุการณ์ และเข้าสกัดทันเวลา
หากเป็นที่โรงเรียนหรือเนิสเซอรี่ต้องการคุณครูหรือพี่เลี้ยงที่มีเวลามากพอที่จะสังเกตสัญญาณเตือนพบแล้วเข้าสกัดก่อนเกิดเหตุเช่นเดียวกัน