สมองอ่านอย่างไร?
ตอนที่เด็กได้ยินเสียงเขาจะได้หน่วยเสียง (phoneme) ทุกภาษามีจังหวะเฉพาะของตนเองทำให้เด็กสามารถแยกเสียงออกเป็นพยางค์และรวมพยางค์เป็นคำ
มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าเด็กแต่ละเชื้อชาติจะพัฒนาหน่วยเสียงขึ้นมาด้วยจังหวะที่ไม่เหมือนกัน แม้แต่ภาษาท้องถิ่นของแต่ละประเทศก็มีหน่วยคำและหน่วยเสียงของตนเอง

เด็กจากแต่ละภาคจึงมีภาษาแม่ที่แตกต่างกัน ภาษาแม่จะเป็นภาษาที่สำคัญที่สุดสำหรับการตั้งต้นเรียนรู้หลายภาษาในอนาคต
เมื่อเด็กนอนดูนิทานที่คุณพ่อคุณแม่เปิดอ่าน เด็กดูทั้งหน้ากระดาษ มิได้แยกฉากหน้าและฉากหลัง (foreground &background) รวมทั้งเด็กมองดูทั้งรูปภาพและตัวอักษร โดยมีพัฒนาการของหน่วยเสียงตีคู่ขนานมาตลอดทางไม่ช้าก็เร็ว
แต่เพราะว่าหน่วยเสียงมีจังหวะของตัวเองที่แน่นอนเด็กจึงสามารถแยกหน่วยคำ (morpheme) และ หน่วยเขียน (grapheme) ได้ในที่สุด ก่อนที่จะทดแทนอักขระทั้งหมดด้วยสัญลักษณ์ (symbolization) ในเวลาต่อมา
ตอนที่คนเราอ่านหนังสือ แสงจากตัวหนังสือจะพุ่งผ่าน รูม่านตา (Pupils) คือวงกลมสีดำตรงกลางลูกตาเข้าไปด้านใน แสงคืออนุภาคโฟตอน (Photon) โฟตอนจะพุ่งไปชนส่วนที่เรียกว่า โฟเวีย (Fovea) บน จอตา (Retina) อย่างแม่นยำ
คนเราอ่านหนังสือด้วยส่วนเล็กๆที่เรียกว่าโฟเวียโดยมีลานสายตาประมาณ 15 องศาเท่านั้น คนเรามิได้อ่านหนังสือทั้งหน้าด้วยจอตาทั้งหมด
ระหว่างที่เราอ่านหนังสือเราเห็นตัวอักษรเพียง 3-4 ตัวไปทางซ้าย และ 7-8 ตัวไปทางขวา (สำหรับชาติที่อ่านจากซ้ายไปขวา) และลูกตาของคนเราเคลื่อนจากซ้ายไปขวาด้วยการกระตุกเป็นจังหวะในอัตรา 4-5 ครั้งต่อวินาที เรียกว่า sacchadic movement เรื่อยไปจนหมดหน้ากระดาษ
โฟตอนที่กระแทกโฟเวียจะทำให้อิเล็คตรอนหลุดจากแหล่ง เกิดสัญญาณประสาทพุ่งออกไปสองทิศทาง
เส้นทางหนึ่งเป็นเส้นทางตัวอักษร เด็กแยกอักขระแล้วสะกดคำตามจังหวะเสียง
อีกเส้นทางหนึ่งเป็นเส้นทางภาพ เด็กได้ยินคำว่าช้างพร้อมกับเห็นรูปช้าง สมองสร้างคลังคำว่า “ช้าง” พร้อมกับรูปสัตว์มีงวงและงานั้นเอาไว้

วันหนึ่งเมื่อเด็กเห็นรูปสัตว์มีงวงและงาที่ใดต่อให้เป็นแมมม็อธหรือเอราวัณเขาจะมีคลังคำ “ช้าง” อยู่ตลอดไป
การที่เส้นประสาทส่งสัญญาณประสาทออกไปสองทิศทางพร้อมกันทั้งอักขระและรูปภาพนี่คือ “กระบวนการสร้างสัญลักษณ์” อันจะเป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้เด็กอายุ 4-6 ขวบที่มี ”ความสุข” กับการ “มอง” หนังสือนิทานประกอบภาพสามารถอ่านได้เองในเวลาต่อมา
Cr. นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์