คำนำ 100 บทเรียนเลี้ยงลูกเจนอัลฟ่า
เริ่มต้นด้วยข้อสงสัยส่วนตัวว่าเพราะอะไรเด็กสมัยใหม่จึงดูเหมือนจะมีปัญหาอะไรมากมายนัก เป็นเราคิดไปเอง สื่อรายงานมากขึ้น หรือว่าพวกเขามีปัญหาจริงๆ
หากดูตัวเลขอุบัติการณ์ป่วยทางจิตเวชในสหรัฐอเมริกาพบว่าตัวเลขทวีจำนวนสูงขึ้นจริง ชวนให้นึกถึงคำพูดที่ว่าอะไรที่เกิดกับสหรัฐอเมริกามักจะเกิดกับบ้านเราด้วย
มีหนังสารคดีเรื่องหนึ่งฉายภาพให้ดูว่าจำนวนเรือนจำในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนกับจำนวนโรงเรียนที่เพิ่มขึ้นและมีความสัมพันธ์กันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าเราจะไม่สรุปว่าโรงเรียนเป็นต้นเหตุของอาชญากรรมแต่ตัวเลขเหล่านี้ชวนให้เราควรทบทวนงานพัฒนาที่เรากำลังทำอยู่
ตอนแรกที่ได้อ่านเรื่องลักษณะเฉพาะของคนแต่ละรุ่นคือเบบี้บูมเมอร์ เอ๊กซ์ วาย แซด และอัลฟ่า เมื่ออ่านแล้วมิได้เข้าใจหรือเชื่อถืออะไรมากมาย จนกระทั่งได้เลี้ยงลูกด้วยตนเองแล้วพบว่าจู่ๆวันหนึ่งเราเริ่มพูดกับวัยรุ่นไม่รู้เรื่อง

ส่วนหนึ่งเพราะเป็นวัยของเขา แต่ที่ไหนได้ ส่วนมากเป็นเพราะวัยของเรา
เราเป็นฝ่ายไม่รับฟังเขา ถือตัวว่าเราเคยทำอะไรต่อมิอะไรสำเร็จมาก่อน ดังนั้น อะไรต่อมิอะไรก็จะดีที่สุดสำหรับลูกถ้าเขาเชื่อฟังเรา
พอเวลาผ่านมาหลายปีหันกลับไปมองพบว่าเป็นความคิดที่ผิดหลายส่วน กาลเวลาพิสูจน์ว่าลูกๆเขาคิดถูกและทำถูกเป็นส่วนใหญ่ เหมาะสมกับยุคสมัยมากกว่าที่เราคิดมาก
พวกเขาไปเอาความสามารถนี้มาจากไหน?
ดังที่บรรยายและเขียนเสมอว่าโลกวันนี้มีสิ่งที่โลกไม่เคยมีมาก่อนคือไวไฟ ไวไฟปกคลุมโลกตั้งแต่วันที่เด็กอัลฟ่าเกิด คนรุ่นก่อนหน้านั้นไม่มีใครรู้จักไวไฟมาก่อน คนรุ่นผมมิต้องพูดถึง คนรุ่นเอ๊กซ์ วาย และแซด อย่างมากก็ได้ใช้อินเตอร์เน็ตมีสายและเล่นเกมออฟไลน์ แต่ไวไฟและเกมออนไลน์เป็นประดิษฐกรรมที่เด็กอัลฟ่าพบตั้งแต่แรกเกิด
นั่นทำให้สมองของเขาพัฒนาตัวเองด้วยวิธีที่แตกต่าง ได้ก้อนสมองที่แตกต่าง เนื้อสมองที่แตกต่าง และจิตใจที่แตกต่าง
อย่าว่าแต่คนรุ่นเบบี้บูเมอร์จะไม่สามารถใช้วิธีคิดแบบของเราคุยกับเขาได้ พ่อแม่ของพวกเขาเองซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นเอ๊กซ์หรือวายก็ไม่สามารถคุยกับพวกเขาได้พอกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัฒนธรรมบ้านเราที่ผู้สูงอายุมีความสำคัญอยู่มากและมีอิทธิพลเหนือคนทุกคนในครอบครัว เรามาถึงความขัดแย้งระหว่างวัยที่ห่างชั้นกันมากกว่าแต่ก่อนมาก
“โยนทุกอย่างทิ้งไป” เป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ได้ผลเวลาคนเราพบอุปสรรคที่ไม่เข้าใจ
ความหมายคือหากเราติดอยู่กับกรอบความคิดเดิมแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจจะขัดขวางพัฒนาการวิธีคิดของตนเองได้ไม่ยาก ด้วยเหตุว่าความคิดเล็กน้อยที่ติดขัดนั้นเผอิญวางอยู่ตรงตำแหน่งสำคัญที่จะขัดขวางกระบวนการคิดและพัฒนาทั้งหมด ดังนั้นวิธีที่ดีกว่าคือ “โยนทุกอย่างทิ้งไป”
สังคมบ้านเราวันนี้มีปัญหาเรื่องเร่งเรียน คาดหวังสูง เปรียบเทียบกัน พรากลูกไปจากพ่อแม่เร็วเกินควร กดดันให้อ่านออกเขียนได้เร็วเกินอายุ เด็กๆได้แต่เรียนจนกระทั่งไม่มีเวลาเล่นหรือฝึกทักษะชีวิตอื่นๆ

จำนวนเด็กมัธยมหกที่คิดฆ่าตัวตายสูงขึ้น จำนวนนิสิตนักศึกษาที่เปลี่ยนสาขาการเรียนกลางคันสูงขึ้น จำนวนบัณฑิตที่เรียนจบแล้วไม่รู้จะทำอะไรต่อสูงขึ้น ทั้งนี้ไม่นับเรื่องจำนวนนักโทษในเรือนจำที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญคือช่องว่างระหว่างชนชั้นห่างกันมากขึ้นด้วย
เหล่านี้เป็นตัวชี้วัดที่ไม่ดีสำหรับลูกๆของเรา นอกจากนี้เด็กที่เรียนเก่งเพียงอย่างเดียวแต่ EF ไม่ดีพอมิได้มีความสุขในชีวิตมากมายนัก เด็กที่เรียนไม่เก่งแต่มีเซลฟ์เอสตีมและ EF ดีกว่าประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่า
โยนทุกอย่างทิ้งไป สำรวจเรื่องที่เรากำลังทำอยู่ใหม่ อ่านทางเลือกใหม่ ให้ลูกอยู่กับพ่อแม่นานหน่อย หากต้องจากไปศูนย์เด็กเล็ก เนิสเซอรี่ หรือ รร อนุบาลให้ไปเพื่อ “เตรียมความพร้อม” ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าเด็กแต่ละคนเร็วช้าต่างๆกัน
รร อนุบาลเตรียมความพร้อมควรมีกิจกรรมเรียนรู้จากการเล่นและทำงานมากกว่าที่จะเร่งเรียน เหล่านี้คือ EF พื้นฐานซึ่งเคยเขียนแล้วในหนังสือ “EF เล่ม 1” และ “EF เล่ม 2”
หนังสือเล่มนี้รวบรวมความก้าวหน้าด้าน EF เพิ่มเติมเพื่ออธิบายพัฒนาการของเด็กอัลฟ่าซึ่งเป็นที่เชื่อกันว่ากำลังเผชิญโลกที่วุ่นวายสับสนและมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
หนังสือเล่มนี้ใช้ข้อมูลจากเอกสารอ้างอิงท้ายเล่ม ส่วนที่มิใช่ข้อมูลคือทัศนะของผู้เขียน และได้เขียน “เชิงอรรถ” เพิ่มเติมในตอนต้นจำนวนมากเพื่อทบทวนความรู้ EF หรืออธิบายคำศัพท์สำหรับท่านที่ยังไม่คุ้นเคยเรื่อง EF ส่วนท่านที่ไม่ถนัดภาษาอังกฤษสามารถอ่านเฉพาะส่วนภาษาไทยได้อย่างต่อเนื่องโดยมิต้องกังวล เหตุที่ใส่คำภาษาอังกฤษแทรกเป็นบางตอนเพื่อย้ำเตือนว่าอะไรที่เขียนมีปรากฏอยู่ในตำราแพทย์และงานวิจัยด้านสมองสมัยใหม่ มิใช่คำเทศนาสั่งสอนอย่างดาษดื่น
ขณะที่เขียนคำนำนี้ ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 212 คน (รายงาน ณ วันที่ 18 มีนาคม 2563) ค่าฝุ่น PM2.5 ในเขต 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนอยู่ระหว่าง 200 ถึงมากกว่า 600 คือเกินกว่าเครื่องปกติจะวัด เมื่อหนังสือวางตลาดไม่ทราบว่าโลกและประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรอีก จะเห็นว่าเรากำลังเลี้ยงลูกๆให้เติบโตขึ้นมาในอนาคตที่ผันผวน

พวกเขาควรมีความสามารถแบบใด?
19 มีนาคม 2563
Cr. นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์