ข้อแนะนำสำหรับผู้ปกครองในการดูแลสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่น สรุปจาก WHO และ CDC
ปฏิกิริยาของเด็กต่อสถานการณ์โรคระบาดส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการแสดงออกของผู้ใหญ่รอบตัวเด็ก หากผู้ปกครองมีความวิตกกังวลมาก ความกังวลนี้ก็จะถ่ายทอดไปให้เด็กได้ ดังนั้น การที่ผู้ปกครองมีสติและอารมณ์ที่มั่นคง จะสามารถช่วยดูแลเด็กได้ดีขึ้น

• ติดตามข่าวสารอย่างเหมาะสม โดยเลือกแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดูแลตนเอง อาจจะเลือกการติดตามข่าวเป็นเวลา เพียงวันละ 1-2 ครั้งเท่านั้น การติดตามข่าวสารมากเกินความจำเป็นส่งผลให้เกิดความเครียดกังวลได้
• อธิบายเกี่ยวกับสถานการณ์ COVID-19 ให้เด็กฟัง โดยปรับภาษาให้เข้าใจง่ายให้เหมาะสมกับวัยและบอกเฉพาะข้อมูลที่สำคัญ ให้ความมั่นใจกับเด็กว่าขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญในหลายๆประเทศกำลังทำงานกันอย่างเต็มที่เพื่อควบคุมและดูแลโรคระบาดนี้ การที่เด็กเล็กรับข้อมูลด้วยตัวเอง อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้
• เป็นตัวอย่างให้เด็กและวัยรุ่นด้วยการดูแลสุขภาพกายใจและสุขอนามัยตนเองให้ดี พักผ่อนให้เพียงพอ ล้างมืออย่างน้อย 20 วินาที ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้ยาเสพติด
• แนะนำวิธีจัดการความเครียด เช่น สอนการหายใจคลายเครียด (สามารถเปิดดูคลิปสอนได้ในช่องทาง YouTube) ยืดกล้ามเนื้อ (stretching) พูดคุยกับคนที่ไว้ใจเกี่ยวกับความกังวลของตนเอง
• ให้เด็กได้มีโอกาสบอกความรู้สึกของตนเอง เด็กแต่ละคนมีการแสดงความเครียดกังวลได้แตกต่างกัน ให้เวลากับเด็กในการพูดคุย ใช้การเล่นหรือวาดรูปในการระบายความรู้สึก
• พยายามให้เด็กได้ดำเนินชีวิตประจำวันให้ใกล้เคียงแบบเดิมเท่าที่ทำได้ โดยเฉพาะในกรณีที่เด็กต้องถูกกักอยู่ในบริเวณบ้าน ให้เด็กได้เล่นในบ้าน และช่วยเหลืองานบ้านตามปกติ
• กรณีที่เด็กต้องกักตัวแยกจากผู้ปกครอง ให้ผู้ปกครองติดต่อกับเด็กอย่างสม่ำเสมอผ่านการโทรศัพท์ หรือช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การวีดีโอคอลหาเด็กอย่างสม่ำเสมอเช้าเย็นทุกวัน
เอกสารอ้างอิง
- “Helping Children Cope with Emergencies.” CDC. Accessed March 15, 2020. https://www.cdc.gov/childrenindisasters/helping-children-cope.html
- “Manage Anxiety & Stress.” CDC. Accessed March 15, 2020. https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/prepare/managing-stress-anxiety.html#parents
- “Talking to Children About COVID-19 (Coronavirus): A Parent Resource.”. National Association of School Psychologists. Accessed March 15, 2020. https://www.nasponline.org/resources-and-publications/resources-and-podcasts/school-climate-safety-and-crisis/health-crisis-resources/talking-to-children-about-covid-19-(coronavirus)-a-parent-resource
ปฏิกิริยาของเด็กที่พบได้บ่อย
โดยทั่วไปแล้วเมื่อเวลาผ่านไปสักพัก เด็กจะสามารถปรับตัวได้และปฏิกิริยาความเครียดจะลดลงตามลำดับ เด็กและวัยรุ่นมีอาการแสดงที่แตกต่างกัน โดยปกติแล้วเด็กสามารถมีอาการต่อไปนี้ได้
- ทารก – 2 ขวบ
เด็กอาจจะร้องไห้บ่อยขึ้น อยากให้ผู้ปกครองอุ้มและกอดมากขึ้น - 3 – 6 ขวบ
เด็กอาจมีพฤติกรรมถดถอยและกลับไปมีพฤติกรรมเด็กกว่าวัย เช่น ปัสสาวะรดที่นอน ดูดนิ้ว ติดผู้ปกครองมากขึ้น เป็นต้น อาจมีพฤติกรรมดิ้นอาละวาด เข้านอนยากขึ้น นอนไม่หลับ - 7 – 10 ขวบ
เด็กอาจรู้สึกเศร้า วิตกกังวล เครียด เกี่ยวกับสถานการณ์ได้ ส่งผลให้เสียสมาธิและการเรียนตกลงได้ - วัยรุ่น
เด็กบางคนอาจมีการแสดงออกของความเครียดด้วยการมีพฤติกรรมที่เสี่ยงอันตราย เช่น ใช้สารเสพติด ขับรถเร็ว หรือ หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย ส่งผลให้เถียงกับคนในครอบครัวบ่อยมากขึ้น
เอกสารอ้างอิง
“Helping Children Cope with Emergencies.” CDC. Accessed March 15, 2020. https://www.cdc.gov/childrenindisasters/helping-children-cope.html
Cr. เรียบเรียงโดย พญ ภาวิตา จงสุขศิริ 😊